หากใครที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวกับธนาคาร สถาบันการเงิน หรือบริษัทประกันภัย อาจต้องคุ้นเคยกับ KYC และ CDD เนื่องจากทั้งสองคำนี้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำความรู้จักกับลูกค้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และช่วยลดความเสี่ยงจากการทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย โดย KYC นั้นย่อมาจาก (Know Your Customer) คือการรู้จักลูกค้า เป็นกระบวนการที่ให้ลูกค้าทำการยืนยันตัวตน แต่หลังจากดำเนินการยืนยันตัวตนแล้ว อีกสิ่งที่ผู้ประกอบการธนาคารต้องดำเนินการคือ CDD หรือการตรวจสอบข้อเท็จจริงลูกค้า ซึ่งในกระบวนการ CDD นี้ คืออะไร และสำคัญอย่างไรบ้าง ในบทความนี้จะพาทุกคนไปหาคำตอบ
CDD คืออะไร ?
CDD ย่อมาจาก Customer Due Diligence คือการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงของลูกค้า โดยจะเป็นการตรวจสอบข้อมูลของลูกค้า เช่น ข้อมูลตัวตนที่แท้จริงของลูกค้า ข้อมูลการแสดงตนที่ลูกค้ายื่นให้กับธนาคาร เป็นต้น จุดประสงค์ของการทำ CDD คือการยืนยันข้อมูลของลูกค้าที่ใช้บริการ และป้องกันความเสี่ยงที่ธนาคารจะถูกจารกรรม หรือทำผิดกฎหมาย
กระบวนการตรวจสอบของ CDD
การดำเนินการติดตาม และตรวจสอบข้อมูลลูกค้า โดย CDD สามารถแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้
1.การประเมินลูกค้าที่มีความเสี่ยงต่อการฟอกเงิน
เป็นขั้นตอนที่ทำพร้อมกับตอนอนุมัติลูกค้า โดยธนาคารจะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลของลูกค้า เพื่อนำไปประเมินความเสี่ยงในการฟอกเงิน ซึ่งจะมีการแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับต่ำ, ระดับปานกลาง และระดับสูง ทางธนาคารจะมีการใช้เกณฑ์ที่สมาคมธนาคารไทยกำหนด จะมีการตรวจสอบข้อมูลธุรกรรมอันเป็นเหตุต้องสงสัยต่อการฟอกเงิน เช่น ประเภทธุรกิจ ที่อยู่ ของลูกค้า เป็นต้น
2.ทบทวนข้อมูลจากลูกค้า
เป็นกระบวนการที่ตรวจสอบความเป็นปัจจุบันของลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ ธนาคารอาจกำหนดระยะเวลาในการทบทวนข้อมูล เช่น ตรวจสอบข้อมูลลูกค้าในทุก 2 – 5 ปี เป็นต้น โดยแบ่งเป็นลูกค้าระดับเสี่ยงต่ำ ไปจนถึงระดับความเสี่ยงสูง หากเป็นลูกค้าความเสี่ยงสูงควรตรวจสอบเป็นประจำ โดยสิ่งที่ธนาคารต้องตรวจสอบกับลูกค้า มีดังนี้
1.ลูกค้ามีความเคลื่อนไหวทางการเงินที่ปกติดีหรือไม
2.ลูกค้ายังมีความสัมพันธ์กับสถาบันการเงินตามวัตถุประสงค์แต่แรกหรือไม่
3.ระดับความเสี่ยงในการฟอกเงินของลูกค้ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่
4.ธนาคารควรดำเนินความสัมพันธ์กับลูกค้าหรือไม่
3.การตรวจสอบ Sanction List
เป็นกระบวนการก่อนที่ธนาคารจะเริ่มความสัมพันธ์กับลูกค้า โดยจะตรวจสอบว่าลูกค้าไม่ได้เป็นบุคคลที่เคยมีประวัติความผิดที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน หรือกระทำความผิดฐานสนับสนุนเงินไปใช้ในทางผิดกฎหมาย หรือการก่อการร้าย และไม่อยู่ในกลุ่มบัญชีเฝ้าระวังจากทางการ หรือ ปปง. (สํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน)
4.ทำการรายงานธุรกรรมอันมีเหตุต้องสงสัย
เป็นกระบวนการที่ทางธนาคารจะต้องรู้ว่าลักษณะธุรกรรมแบบใดบ้างที่เป็นอันตราย หรือมีเหตุสงสัยว่าอาจเป็นการฟอกเงิน และกระทำผิดกฎหมาย เพื่อดำเนินการรายงานกับ ปปง. และยุติความสัมพันธ์กับลูกค้ารายดังกล่าว
CDD สำคัญต่อธุรกิจอย่างไรบ้าง?
1.ช่วยเพิ่มความปลอดภัยต่อผู้ให้บริการ และผู้ใช้บริการ
การทำ CDD จะช่วยให้การทำธุรกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเงินเป็นไปอย่างปลอดภัย โดยในมุมของผู้ให้บริการนั้น การทำ CDD จะช่วยให้องค์กรรู้จักลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการมากยิ่งขึ้น และยังช่วยลดความเสี่ยงในการที่จะถูกกลุ่มผู้ไม่หวังดีเข้ามาทำผิดกฎหมาย ที่อาจสร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันการเงินได้
2.ลดความเสี่ยงต่อการกระทําที่ผิดกฎหมาย
ในปัจจุบันมีการกระทำผิดกฎหมายในด้านธุรกรรมหลากหลายแบบมากขึ้น ดังนั้นการทำ CDD คือการป้องกันความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น การฟอกเงิน หรือการทำธุรกรรมโอนเงินสนับสนุนการก่อการร้าย เป็นต้น
3.ลดต้นความผิดพลาดในการตรวจสอบสถานะลูกค้า
การตรวจสอบ และติดตามสถานะของลูกค้าขององค์กรสถาบันการเงินนั้น เป็นกระบวนการที่ต้องใช้ความละเอียดในการตรวจสอบ หากองค์กรดำเนินการตรวจสอบด้วยตนเอง อาจมีความเสี่ยงที่ข้อมูลจะผิดพลาดได้ ดังนั้นการใช้บริการ KYC และ DCC จะช่วยลดโอกาสผิดพลาดของข้อมูล และเพิ่มความรวดเร็วในการตรวจสอบ ทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
สรุป
จะเห็นได้ว่า CDD นั้น เป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อการทำธุรกรรมการเงินในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นต่อผู้ให้บริการ และผู้ใช้บริการ เพราะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงการทำผิดกฎหมายด้านการเงิน ทั้งป้องกันการฟอกเงิน หรือการก่อการร้ายรูปแบบต่างๆ ช่วยรักษาชื่อเสียงของสถาบันการเงิน หรือธนาคาร ให้ได้รับความน่าเชื่อถือจากผู้ใช้บริการ