การจะเริ่มจ้างงานในแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะเป็นงานประจำ งานฟรีแลนซ์ ไปจนถึงงานพาร์ทไทม์ หนึ่งในสิ่งที่สำคัญอย่างขาดไม่ได้คือ “สัญญาจ้างงาน” ที่เป็นเหมือนหลักฐานการจ้างงานระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ที่มีการระบุระยะเวลาการจ้าง รวมถึงค่าจ้างที่ชัดเจน แต่ในด้านกฎหมายแรงงานสัญญาจ้างสำคัญอย่างไร แบ่งออกเป็นประเภทไหนบ้าง สามารถหาคำตอบได้ที่บทความนี้
สัญญาจ้างคืออะไร?
สัญญาจ้างงานคือหลักฐานสำคัญที่จะทำหน้าที่เป็นตัวกำหนดความเสมอภาคและความรับผิดชอบระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ตามที่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 ได้บัญญัติไว้ว่า “อันว่าสัญญาจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ลูกจ้าง ตกลงทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะจ่ายสินจ้างให้ตลอดระยะเวลาที่ทำงานให้”
ตามกฎหมายแรงงานประเทศไทย สัญญาจ้างจะมีบทบาทสำคัญในการเป็นข้อตกลงของนายจ้างและลูกจ้าง โดยลูกจ้างจะต้องเอาแรงงานไปแลกกับค่าจ้างตามสัญญา ดังนั้นยิ่งสัญญาจ้างชัดเจนและถูกต้องจึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น
4 เรื่องที่ควรรู้ ก่อนทำสัญญาจ้าง
ก่อนที่เริ่มการจ้างงานได้ในแต่ละครั้ง ผู้จ้างจะต้องทำสัญญาจ้างเพื่อเป็นหลักฐานในการจ้างงาน โดย 4 เรื่องสำคัญที่ควรรู้ของสัญญาจ้าง มีดังนี้
1.เป็นหลักฐานที่ปกป้องสิทธิ์ของลูกจ้าง เพราะสัญญาจ้างงานจะช่วยระบุสิทธิ์และความรับผิดชอบของลูกจ้าง เช่น สิทธิ์ในการได้รับค่าจ้างในจำนวนและภายในวันเวลาที่กำหนดไว้ เป็นต้น
2.เป็นตัวกำหนดเงื่อนไขความรับผิดชอบของนายจ้าง สัญญาจ้างจะช่วยกำหนดเงื่อนไขการทำงาน และความรับผิดชอบของนายจ้าง เช่น การกำหนดระยะเวลาการทำงาน และการกำหนดสิทธิ์หน้าที่ความรับผิดชอบต่าง ๆ ของลูกจ้าง
3.สร้างความเชื่อมั่นในการจ้างงาน การที่นายจ้างมีการออกสัญญาจ้างที่มีความถูกต้องชัดเจน จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อการจ้างงาน ทำให้ลูกจ้างเกิดความสมัครใจที่จะร่วมงานมากยิ่งขึ้น
4.ป้องกันการเกิดข้อขัดแย้ง สัญญาจ้างจะเป็นสิ่งที่ช่วยป้องกันการเกิดข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ในกรณีที่การทำงานเกิดปัญหา เช่น การกำหนดเงื่อนไขการสิ้นสุดสัญญาจากกรณีต่าง ๆ เป็นต้น
รู้จักกับสัญญาจ้างงานประเภทต่าง ๆ
โดยทั่วไปสัญญาจ้างงานจะสามารถแบ่งออกเป็นได้ 4 ประเภท ดังนี้
1.สัญญาจ้างทำของ
สัญญาที่ทางผู้ว่าจ้างตกลงให้ผู้รับจ้างทำงานสิ่งหนึ่งให้สำเร็จ โดยที่ผู้รับจ้างจะได้รับสินจ้างเป็นผลตอบแทนของการทำงานชิ้นนั้น ๆ สัญญาจ้างทำของจะให้ความสำคัญไปที่ผลสำเร็จของตัวชิ้นงานเป็นหลัก
2.สัญญาจ้างงานแบบไม่มีกำหนดระยะเวลา
เป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีการระบุระยะเวลาการดำเนินงานที่ชัดเจน โดยนายจ้างสามารถบอกเลิกจ้างเมื่อไหร่ก็ได้ แบ่งออกเป็น 2 กรณีคือ เลิกจ้างแบบมีเหตุผลที่ต้องเลิกจ้างงาน และเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุผล ซึ่งในกรณีนี้นายจ้างจะต้องแจ้งล่วงหน้าและจ่ายค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด
3.สัญญาจ้างงานแบบมีกำหนดระยะเวลา
เป็นสัญญาจ้างงานที่มีการระบุช่วงเวลาการจ้างงานที่ชัดเจน เช่น ระยะเวลาจ้าง 1 ปีหรือสัญญาจ้างงานตามโครงการ โดยสัญญาจ้างจะมีระยะเวลาสิ้นสุดแต่มีเงื่อนไขข้อตกลงที่ให้นายจ้างมีสิทธิ์ที่จะลด หรือขยายระเวลาสัญญาจ้างงานได้
4.สัญญาจ้างพาร์ทไทม์
หรือเรียกอีกชื่อว่าสัญญาจ้างพนักงานนอกเวลา เป็นสัญญาการจ้างลูกจ้างทำงานในระยะสั้น มีการตกลงค่าจ้างเป็นรายชั่วโมง และกำหนดระยะเวลาการจ้างที่แน่นอนชัดเจน อาจมีการปรับเปลี่ยนวันเวลาการทำงานได้ตามความสะดวกของนายจ้างหรือลูกจ้าง
สรุป
สัญญาจ้างงานคือสิ่งที่นายจ้างและองค์กรควรให้สำคัญ เพื่อเป็นหลักฐานการจ้างงานระหว่างนายจ้างและลูกจ้างที่เป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน รวมถึงป้องกันการเกิดปัญหาระหว่างการดำเนินงาน แต่นอกจากการทำสัญญาจ้างงานแล้ว อีกสิ่งที่นายจ้างควรให้ความสำคัญคือการตรวจสอบประวัติพนักงานก่อนเริ่มงาน ซึ่งทาง Appman ได้มีบริการ Background Checker ที่เป็นการยื่นประวัติในรูปแบบดิจิทัล ที่พร้อมช่วยให้นายจ้างและองค์กรได้ทราบผลในระยะเวลาที่รวดเร็ว เพื่อให้องค์กรได้พนักงานที่มีคุณภาพ